วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2560

คิดจะขายของออนไลน์ อย่าประมาทเรื่องภาษี

เชื่อว่ามีหลายคนที่ชอบทำงานฝีมือใฝ่ฝันอยากมีร้านขายงานฝีมือเป็นของตัวเอง ซึ่งสมัยก่อนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะการลงทุนเปิดร้านขึ้นมาสักร้าน ต้องใช้เงินไม่น้อย แต่ปัจจุบันทำได้ง่ายกว่านั้นเยอะ โดยการย้ายหน้าร้านไปไว้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งลงทุนน้อยกว่ามาก แม้จะมีความเสี่ยงว่าลูกค้าอาจจะมีน้อยกว่าการเปิดร้านจริงๆ ยิ่งอยู่ในยุคของเฟซบุ๊คและอินสตาแกรมด้วยแล้ว การขายของออนไลน์ยิ่งทำได้ง่ายมากๆ

แต่ระยะหลังนี้ได้เห็นคนรู้จักที่ขายของออนไลน์เริ่มมีปัญหาเรื่องภาษี คือไม่ได้เข้าระบบการเสียภาษีอย่างที่ควรจะเป็นนั่นเอง เมื่อสรรพากรตามเจอ ก็ย่อมต้องโดนตรวจสอบเป็นธรรมดา โดยเฉพาะร้านที่ขายดี มีแฟนเพจหรือมีคนติดตามเยอะ ก็จะโดนเพ่งเล็งเป็นพิเศษ

เท่าที่คนเขียนพอจะรู้มาบ้าง เพราะว่าอยู่ระหว่างชั่งใจว่าจะเปิดร้านออนไลน์กับเขาดีหรือไม่ ก็คือว่า ไม่ว่าคุณจะตั้งบริษัทหรือไม่--ภาษาทางกฎหมายคือไม่ว่าคุณจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา เมื่อมีรายได้เกิดขึ้น ต้องแจ้งสรรพากรค่ะ เพื่อเสียภาษีตามกฎหมาย ต่อให้รายได้ไม่ถึงขั้นที่ต้องเสียภาษี เราก็ต้องแจ้งค่ะ ไม่อย่างนั้นอาจจะโดนข้อหาหลบเลี่ยงภาษีได้ แล้วการโดนเรียกตรวจสอบย้อนหลังเป็นเรื่องยุ่งยากมากๆ ดี-ไม่ดี อาจจะต้องจ่ายค่าปรับด้วย เพราะฉะนั้นทำให้ถูกต้องตั้งแต่แรกดีกว่าค่ะ

ถ้าสมมติว่าคุณขายของเป็นงานอดิเรก ปริมาณสินค้าไม่มาก รายรับตรงนี้ไม่เยอะ ก็ไม่ต้องกลัวค่ะว่าเราจะโดนขูดรีดภาษี เพราะอัตราการเสียภาษีบ้านเรานี่...ถ้าเทียบกับเมืองนอก ขอบอกว่าไม่ได้โหดร้ายอะไรเลยค่ะ เท่าที่ทราบตอนนี้ รายได้ระดับที่ต้องเสียภาษีและต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มคือ 1.8 ล้านบาทต่อปีค่ะ นั่นคือถ้าคุณขายของได้ไม่ถึง 150,000 บาทต่อเดือน คุณก็ไม่ต้องเสียภาษี (แต่ต้องแจ้งรายได้นะคะ) โดยในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา คือไม่ได้ตั้งเป็นบริษัทหรืออะไร เราก็ยื่นภาษีโดยใช้แบบ ภงด. 90 ได้ค่ะ โดยรายได้ตรงนี้จะอยู่ในมาตรา 40 (8) นะคะ ถ้าจำไม่ผิด สำหรับคนที่มีรายได้จากการขายของมากหน่อย ไม่อยากเสียภาษีรวดเดียวเยอะๆ ก็ไปยื่น ภงด. 94 ได้ทุกครึ่งปีตามกำหนดของกรมสรรพากรค่ะ คล้ายๆ เป็นการแบ่งจ่ายค่ะ

มีข้อควรระวังอย่างหนึ่งที่เตือนๆ กันมาค่ะ สำหรับคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนด้วยหรือมีรายได้ทางอื่นด้วย นอกเหนือจากการขายของออนไลน์ คือให้แยกบัญชีที่รับเงินเดือนออกจากบัญชีที่ใช้รับโอนเงินลูกค้าของเรา คือใช้คนละบัญชีกันค่ะ เพราะเวลาตรวจสอบรายได้ตรงนี้ สรรพากรจะถือว่าเงินที่เข้าบัญชีทั้งหมดของเรา (ตามที่แจ้งไว้บนเว็บไซต์) คือรายได้จากการขายค่ะ เว้นแต่เราจะมีหลักฐานยืนยันว่าไม่ใช่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะตัดปัญหาและความยุ่งยากโดยการแยกบัญชีไปเลยดีกว่า

สำหรับคนที่มีเว็บไซต์ แนะนำให้ไปจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ที่กระทรวงพาณิชย์ด้วยเลยค่ะ จะยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเราว่าเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีที่มาที่ไป ไม่ใช่แก๊งต้มตุ๋น ลูกค้าจะยิ่งวางใจใช้บริการค่ะ ส่วนคนที่เปิดขายเฉพาะบนเฟซบุ๊คหรืออินสตาแกรม ตรงนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการรับจดทะเบียนหรือไม่นะคะ (แต่ที่แน่ๆ คือสรรพากรเริ่มตามรอยผู้ค้าบนสองเครือข่ายใหญ่นี่แล้วนะคะ ใครยังไม่เคยยื่นภาษีก็รีบไปยื่นเสียเลยค่ะ) เอาไว้ถ้ามีรายละเอียดเพิ่มเติม จะมาเขียนบอกกันอีกทีค่ะ

ข้างล่างนี้มีลิงค์ที่อธิบายเกี่ยวกับภาษีและการขายของออนไลน์ได้ละเอียดพอสมควร ลองอ่านกันดูนะคะ
http://www.ksmecare.com/Article/65/27814/การค้าออนไลน์กับการเสียภาษีอย่างถูกต้อง

อันนี้แถมค่ะ เป็นกระทู้ในพันทิพ แบบสั้นๆ ค่ะ แต่น่าจะให้ภาพรวมได้ดีพอสมควร
http://pantip.com/topic/31068641

สุดท้ายคงต้องบอกว่า การเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของประชาชนค่ะ ไม่ว่าเราจะโอดครวญหรือรู้สึกว่าแฟร์หรือไม่แฟร์ยังไง ก็ต้องยอมรับความจริงตรงนี้ค่ะ ^^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น